จุดมุ่งหมายระยะยาวในการทำงานของคุณ คืออะไร
หลักการ : พูดถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคต และต้องบอกวิธีที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ซึ่งควรจะเกี่ยวข้องกับงานที่สัมภาษณ์อยู่ เช่น อีก 5 ปีข้างหน้าอยากเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่เต็มไปด้วยศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาพนักงานและองค์กรให้มีประสิทธิภาพ การที่จะถึงจุดนั้นได้ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เช่น การได้มีโอกาสทำงานที่บริษัทนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งในการเตรียมตัวสำหรับอนาคต และอาจเพิ่มเติมตัวอย่าง เช่น วิธีการทำงานของตน เป็นต้น
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :การตอบในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัครอยู่ (ถึงแม้จะเป็นความจริง) เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เช่น อยากเปิดร้านอาหารในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าตอบเช่นนั้น อาจโดนถามต่อว่าแล้วมาสมัครงานที่นี่ทำไม
จุดอ่อนของคุณ คืออะไร
หลักการ : ควรเลือกจุดอ่อนที่เป็นความจริงและกำลังปรับปรุงหรือพัฒนาในขณะนี้ ที่สำคัญควรบอกผลลัพธ์หลังการปรับปรุงด้วย เช่น ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ซึ่งตอนนี้กำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ เรียนมานานเท่าไหร่ ที่ไหน และผลการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :มีหลายคนเคยบอกว่าให้เปลี่ยนจุดแข็งให้เป็นจุดอ่อน เช่น เป็นคนทำงานหนักมากๆ ไม่เสร็จไม่กลับ อาจจะฟังดูดี แต่คุณกำลังทำลายตัวเอง เพราะปัจจุบันนี้การรู้จักจัดสรรเวลา (work life balance) เป็นประเด็นสำคัญของคุณภาพชีวิต อีกอย่างคุณกำลังโกหกเพื่อให้ดูดี แถมตอบผิดประเด็นอีกต่างหาก
คำตอบที่ถูกต้อง : ดิฉันไม่ค่อยชอบพูดต่อหน้าสาธารณะค่ะ ซึ่งคุณคงทราบดีอยู่แล้ว ว่ามันอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานได้ พอคิดได้ว่ามันเป็นปัญหา ดิฉันจึงลองเข้าอบรมการพูด จากนั้นมาก็นำเสนองานต่อหน้าผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 100 ครั้ง แม้ตอนนี้ดิฉันก็ยังไม่ค่อยชอบการพูดอยู่เพียงแต่ฝึกจนให้คนอื่นจับไม่ได้เท่านั้นเองล่ะค่ะ
คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทเราบ้าง
หลักการ : ก่อนมาสัมภาษณ์งาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบและเข้าใจข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับองค์กรที่สมัคร เช่น ผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้า คู่แข่ง ภาพลักษณ์องค์กร ที่มาและประวัติขององค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คุณได้ทำการบ้านมา และให้ความสนใจกับองค์กรอย่างแท้จริง อย่าลืมย้ำตอนท้ายด้วยว่า หลังจากที่ศึกษาเกี่ยวกับองค์กร ทำให้เรามีความสนใจที่อยากจะทราบเกี่ยวกับองค์กรเพิ่มเติม
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :การตอบแบบมั่นใจในตัวเองจนเกินไป หรือคำตอบที่สร้างภาพพจน์ไม่ดีให้กับตัวเอง เช่น "ทราบมาว่าที่นี่กำลังขาดผู้จัดการฝ่ายการตลาด ด้วยประสบการณ์งาน 3 ปีในด้านนี้ ทำให้คิดว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้" คำตอบอย่างนี้นอกจากไม่สร้างทัศนคติที่ดีขององค์กรให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการโอ้อวดตัวเองเกินไป
ถ้าได้งานนี้ คุณคิดว่าจะทำงานที่นี่นานเท่าไหร่
หลักการ : ให้มุ่งประเด็นไปที่ความทุ่มเทของตัวเองและความท้าทายของงาน ด้วยการบอกว่าตราบใดที่งานมีความยากและท้าทาย ก็จะขอจะทุ่มเทความสามารถของตัวเองให้เต็มที่เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับองค์กร
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :บอกแผนการหรือระยะเวลา (ซึ่งเป็นความจริง) เช่น มีแผนไปเรียนต่ออีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือ ทางบ้านมีแผนให้ไปช่วยธุรกิจที่บ้าน
ทำไมคุณถึงออกจากงานเก่า
หลักการ : ตอบความจริงให้มากที่สุด แต่สั้นกระชับใจความ ไม่จำเป็นต้องตอบทั้งหมดถ้าความจริงมันเลวร้ายเหลือเกิน อย่าลืมว่าผู้สัมภาษณ์อาจขออนุญาตติดต่อบุคคลอ้างอิงเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้น
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :ควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ที่ทำงานและนายเก่า เพราะเหล่านี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของคุณดูแย่ และนั่นหมายถึงความกล้าที่จะวิจารณ์บริษัทต่อๆ ไปที่คุณร่วมงานด้วย
อะไรคือสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบในงานเก่า
หลักการ : ควรบอกสิ่งที่ชอบมากกว่าสิ่งที่ไม่ชอบ และให้คำอธิบายรวมถึงเหตุผลว่าทำไมเราจึงคิดเช่นนั้น
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :บอกในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานหรืออ้างอิงถึงบุคคล เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังวิจารณ์คนอื่น ไม่จำเป็นต้องเล่าทุกอย่างที่แย่ๆ เกี่ยวกับงาน เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา
อะไรคือสิ่งที่คุณประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต
หลักการ : ควรจะเป็นเรื่องที่รู้สึกภูมิใจที่สุดในช่วง 1-2 ปีของการทำงาน คุณอาจพูดถึงการเลื่อนขั้น ปรับตำแหน่งในการทำงาน หรือตลอดระยะเวลาที่ทำงานมามีแต่ความราบรื่นไม่เคยมีปัญหากับลูกค้า
หากคุณมีความสำเร็จชัดเจน เช่น สามารถทำยอดการขายได้ทะลุเป้า 200% หรือ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 25% ให้เล่าที่มาของเรื่องนั้น วิธี แนวดำเนินการ ผลลัพธ์ ตลอดจนอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีการแก้ปัญหา
ถ้าเป็นผู้สมัครที่เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ อาจจะพูดถึงเกรดเฉลี่ย หรือความภาคภูมิใจที่สามารถสอบเข้ามหาลัยที่มีชื่อเสียงได้
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :การแต่งเรื่องขึ้นเองหรือพูดเกินจริงกว่าสิ่งที่ได้ทำ ส่งผลให้วิธีการเล่าแตกต่างไป ซึ่งผู้สัมภาษณ์ที่มีความเชี่ยวชาญ จะสามารถตั้งคำถามต้อนจนจับได้ว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น
ทำไมถึงอยากทำงานนี้
หลักการ : ใครๆ ก็บอกว่า ชอบช้อปปิ้ง, ชอบเขียน, ชอบขายของ ได้ทั้งนั้น สิ่งที่คุณต้องเน้นก็คือประวัติการทำงานในสายงานหรือการอบรมที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีประสบการณ์เป็นตัวอย่างก็อย่าลืมเล่าเสริมไปด้วย
คำตอบที่ไม่ควรตอบ : ดิฉันชอบช้อปปิ้งค่ะ ตอนเด็กๆ ยังเคยนั่งเปิดเคตตาล็อกสินค้าได้เป็นชั่วโมง”
คำตอบที่ถูกต้อง : ดิฉันชอบซื้อของ แต่มาสนใจตลาดค้าปลีกจริง ๆ ตอนที่ทำงานในห้องเสื้อใกล้บ้าน ตอนนั้นดิฉันทราบว่าเสื้อผ้าของเราสวยมาก แต่เราไม่ได้ทำการตลาดดีพอจากนั้น ดิฉันจึงทำงานร่วมกับฝ่ายบริหาร และร่วมมือกันคิดกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้ยอดขายของเราพุ่งขึ้นถึง 25% ภายในปีเดียว ดิฉันคิดว่าการที่เราสามารถทุ่มเทให้แก่งานที่เราชื่นชอบจริง ๆ เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ รวมถึงการช่วยโปรโมตสินค้าที่ดิฉันเชื่อมั่นด้วย
คุณคิดอย่างไรกับหัวหน้า คนปัจจุบัน/คนเดิม
หลักการ : ถ้าคุณได้งานนี้ สักวันหนึ่งคนที่สัมภาษณ์คุณก็จะกลายเป็น เจ้านายเก่า เหมือนกัน รับประกันได้ว่าเขาคงไม่อยากจ้างคนที่นินทาเขาลับหลังหรอก พยายามมองในแง่ดีและพูดถึงสิ่งดี ๆ ที่เราได้เรียนรู้ดีกว่า (ต่อให้ความเป็นจริงจะแย่สุด ๆ ก็เถอะ)
คำตอบที่ไม่ควรตอบ : หัวหน้าของดิฉันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพค่ะ แกทำงานด้วยยาก ดิฉันเลยตัดสินใจลาออกค่ะ
คำตอบที่ถูกต้อง : ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการบริหารเวลาจากหัวหน้า เพราะเขาเคร่งเรื่องเดดไลน์มาก หัวหน้ามีนิสัยที่จะไม่เล่นระหว่างทำงานเด็ดขาด ทำให้ดิฉันผลักดันให้ตัวเองทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้ทันเดดไลน์โดยที่ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าเป็นไปได้
ในอนาคตอีก 7 ปี คุณจะทำอะไรอยู่
หลักการ : คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด สำคัญอยู่ที่คนสัมภาษณ์เขาอยากรู้ว่าคุณทะเยอทะยาน รักการทำงาน และทุ่มเทให้แก่องค์กรมากแค่ไหน ดังนั้น แทนที่จะเล่าความฝันในอนาคตหรือเล่าเรื่องขำขัน พยายามตอบให้เห็นความมุ่งมั่นของคุณดีกว่าน
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :ะคงจะทำงานอยู่ค่ะ/เกษียณและพักผ่อนสบาย ๆ
คำตอบที่ถูกต้อง :ภายใน 5 ปีนี้ ดิฉันหวังว่าจะได้รู้จักกับธุรกิจนี้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากดิฉันชอบติดต่อกับผู้คน ดิฉันก็อยากจะทำงานในฝ่ายบริหารที่ได้ใช้ความรู้ในสายงานพร้อม ๆ กับทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมงานและองค์กรค่ะ
คุณต้องการเงินเดือนเท่าไหร่
หลักการ : ถ้าเลี่ยงได้ก็อย่าระบุตัวเลข แทนที่จะบอกตรง ๆ ให้สำรวจระดับเงินเดือนตำแหน่งเดียวกันมาก่อน (ละแวกเดียวกันด้วย) และค่อยย้ำความมุ่งมั่นต่อการทำงานอีกที
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :เดิมทีดิฉันได้ 35,000 ตอนนี้เลยอยากได้ค่าตอบแทนประมาณ 40,000 ค่ะ
คำตอบที่ถูกต้อง :ดิฉันสนใจเนื้องานมากกว่าค่าตอบแทนค่ะ แต่ก็หวังว่าจะได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมกับประสบการณ์ห้าปีในหน้าที่นี้ และก็คิดว่าเงินเดือนจะต้องพอกับค่าใช้จ่ายในกรุงเทพฯ ด้วย
ทำไมเราควรจะจ้างคุณ
หลักการ : คำตอบที่ดีควรจะย้ำอีกครั้งถึงคุณสมบัติของเรา และก็เน้นจุดเด่นเข้าไปอีกที
คำตอบที่ไม่ควรตอบ : ดิฉันเป็นผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดค่ะ
คำตอบที่ถูกต้อง :ดิฉันเป็นผู้ช่วยผู้บริหารมาตลอด 10 ปี หัวหน้าคนเดิมพูดเสมอ ๆ ว่าถ้าไม่มีดิฉัน องค์กรคงอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ ดิฉันยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่เป็นประจำ (แต่ไม่เข้าใจระบบของมันจริง ๆ สักเท่าไหร่) ตอนนี้ดิฉันใช้ Excel ได้ดีเยี่ยม ซึ่งทำให้ดิฉันทำงานได้เร็วขึ้น และก็ช่วยแบ่งเบาภาระงานเดิมของหัวหน้าได้บ้าง
แรงจูงใจของคุณ คืออะไร
หลักการ : คำตอบเช่นนี้ไม่ผิดอะไร เพียงแต่น่าเสียดายโอกาส เพราะคำถามนี้แทบเป็นการขอร้องให้คุณเปิดเผยทัศนคติดี ๆ ออกมาเลยนะ ดังนั้น จงอย่าให้คำตอบตื้น ๆ สั้น ๆ มันบอกเกี่ยวกับตัวคุณเองได้น้อยมาก ให้มองว่าคำถามนี้เป็นโอกาสที่จะให้คนสัมภาษณ์รู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณพร้อม ๆ กับเล่าประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงไปด้วย
คำตอบที่ไม่ควรตอบ :การทำงานได้ดีและได้รับรางวัลตอบแทนค่ะ
คำตอบที่ถูกต้อง : ดิฉันชอบความท้าทายของเดดไลน์-ในตำแหน่งปัจจุบัน ดิฉันสามารถส่งผลิตภัณฑ์ได้ตรงเวลาถึง 100% โดยที่ไม่เกินงบประมาณด้วย ดิฉันทราบดีว่างานนี้เน้นความรวดเร็วและเดดไลน์ก็เคร่งครัดมาก แต่ดิฉันไม่ได้แค่พร้อมสำหรับความท้าทายค่ะ จริง ๆ แล้วดิฉันทำงานได้ดีที่สุดในสภาพที่กดดันค่ะ