เมื่อเร็วๆนี้ หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน หารือผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นผู้ที่จะทำงานในตำแหน่งรักษาความปลอดภัย (รปภ.) จะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมาย และกรณีเป็นเคยเป็นผู้ต้องโทษ ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนวันขอใบอนุญาต
ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบหลักที่สมาคมเป็นกังวลเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น รปภ. เนื่องจาก รปภ. ที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) มีเพียง 30% อีกทั้งบางรายเพิ่งพ้นโทษคดีอาญาอาจยังไม่ผ่านเวลาที่กำหนด ซึ่งหากมีการบังคับใช้ พรบ. อย่างเข้มงวด คาดว่าจำนวน รปภ. ที่มีน้อยอยู่แล้วอาจเกิดภาวะขาดแคลน จนถึงขั้นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทดแทน
ผู้อำนวยการ กศน. เขตดินแดง กล่าวว่า กรณีที่จะให้ได้วุฒิ ม. 3 ของ กศน. อย่างเร็วที่สุด เพื่อรองรับกลุ่มแรงงานที่ยังไม่ได้วุฒิดังกล่าวนั้น กศน. มีการจัดการเรียนแบบพบกลุ่มและการเรียนทางไกล ใช้เวลาเรียน 2 ปี และการเรียนแบบเทียบระดับ ใช้เวลา 6 เดือน การเรียนแบบเทียบระดับต้องทำแฟ้มสะสมผลงานพร้อมหลักฐานประกอบ โดยจะมีคณะกรรมการประเมินลงพื้นที่เชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ง่ายนัก
ในการนี้ ปลัดฯ แรงงาน ได้พิจารณาให้ตั้งคณะทำงานหารือในประเด็นดังกล่าว ได้แก่ ผู้แทนทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนจาก กศน. และผู้แทนจากผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำประเด็นสรุปเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายในวันที่ 4 มี.ค. และนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป